พันธกิจ

มุ่งมั่นให้ความรู้ที่มีมาตรฐานเพื่อคุณภาพชีวิต

ประวัติสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานและงานที่เกี่ยวข้อง

การริเริ่มก่อตั้งชมรมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน

ในปี พ.ศ. 2541 คณะกรรมการสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ได้เริ่มมีการเตรียมการประชุมวิชาการ ASEAN Federation of Endocrine Societies (AFES) ซึ่งจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยมีสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในการจัดการประชุม AFES นั้น มีการกำหนดให้จัด Pre Congress ทางด้าน Diabetes Education ซึ่งประเทศไทยไม่เคยจัดมาก่อน โดย ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบการจัด Pre Congress ครั้งนั้น ความท้าทายคือ ทำอย่างไรจึงจะรวบรวมผู้ที่สนใจเรื่อง Diabetes Education มาร่วมกันประชุมได้ และอีกประการหนึ่งคือคนไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ซึ่งต่างไปจากฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ที่เป็นเจ้าภาพจัด AFES ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มจัดให้มี Pre Congress ทาง Diabetes Education ขึ้น

history_7

โจทย์ดังกล่าวกลายเป็นความพยายามที่จะรวบรวมบรรดาผู้ที่สนใจในด้านการให้ความรู้ผู้เป็นเบาหวานมาร่วมกันทำกิจกรรม จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ คิดที่จะก่อตั้งชมรมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน และได้เชิญผู้สนใจเข้าร่วมประชุมครั้งแรก เพื่อก่อตั้งชมรมขึ้น เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 โดยนางสุนทรี นาคะเสถียร หัวหน้าผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เป็นผู้ประสานงานติดต่อบุคลากรต่างๆ ที่คาดว่าสนใจงานด้านการให้ความรู้ผู้เป็นเบาหวาน

ชมรมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานเป็นรูปร่าง

เป็นที่น่ายินดีและปลาบปลื้มใจอย่างมาก ที่มีผู้แสดงความจำนงเข้ามาร่วมประชุมก่อตั้งชมรม ฯ กว่า 250 คน กระทั่งขนาดของห้องประชุมของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ไม่สามารถรองรับได้ จึงต้องจำกัดคนเข้ามาร่วมเพียง 180 คน ทั้งนี้ ศ.นพ.อภิชาติ วิชญาณรัตน์ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้ให้เกียรติมาเป็นผู้เปิดการประชุม

ผู้ที่มาร่วมประชุมก่อตั้งชมรม ฯ เป็นบุคลากรสหสาขาวิชาชีพอย่างแท้จริง มีทั้งแพทย์ กุมารแพทย์ทางต่อมไร้ท่อ พยาบาล นักกำหนดอาหาร นักกายภาพบำบัด ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมเสนอรายนามและคัดเลือกคณะกรรมการของชมรมขึ้นมา และคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ เป็นประธานชมรม นางสุนทรี นาคะเสถียร เป็นเลขาธิการ และ นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ เป็นประธานวิชาการ คณะกรรมการชุดแรกของชมรม ฯ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด เป็นสหสาขาวิชาชีพตั้งแต่เริ่มต้น

คณะกรรมการชมรมฯ จัดประชุมครั้งแรกเพื่อหารือเรื่องการจัดทำข้อบังคับ/กฎระเบียบและวัตถุประสงค์ของการทำงาน สถานที่ตั้งและที่ทำงาน ซึ่งได้ใช้สถานที่ของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ พิจารณาตราสัญลักษณ์ของชมรม ฯ ที่ประกอบด้วย เทียนซึ่งให้แสงสว่าง คือการส่องทางเดินให้ความรู้แก่ผู้เป็นเบาหวาน ส่วน หยินหยาง หมายถึง ความสมดุลในด้านต่าง ๆ อันประกอบด้วยระดับฮอร์โมน การดำเนินชีวิตในการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย และมีสีส้มซึ่งเป็นสีประจำวันพฤหัสบดีที่เป็นวันครูแทนการให้ความรู้นั่นเอง

ชมรม ฯ มีเป้าหมายสำคัญ คือ การจัดการให้ความรู้แก่สมาชิกในเรื่องการดูแลให้ความรู้แก่ผู้เป็นเบาหวาน ดังนั้นจึงต้องมีหลักสูตรการอบรมเรื่องการให้ความรู้โรคเบาหวาน ซึ่งได้รับความกรุณาจาก รศ.พญ.สุนิตย์ จันทรประเสริฐ และ นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร ให้นำเอาหลักสูตรที่จัดอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นำมาเป็นต้นแบบในการดัดแปลง ใช้เป็นหลักสูตรเริ่มต้นในการอบรมของชมรม ฯ ซึ่งมีจำนวนผู้สนใจเข้ารับการอบรมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จุดสำคัญคือทำให้ชมรมฯ เป็นที่รู้จักในหมู่บุคคลที่มีความสนใจคล้ายกันและได้มาพบปะรู้จักกัน

การจัดกิจกรรมวิชาการของชมรมฯ ได้รับความสนใจมากจากบุคลากรสหสาขาวิชาชีพทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พยาบาล นักโภชนาการ ซึ่งส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการจัด Pre congress คณะอนุกรรมการในการจัดงาน Pre congress ของ AFES ประกอบด้วย

  1. ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ
  2. รศ.พญ.สุนิตย์ จันทรประเสริฐ
  3. นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์
  4. รศ.วลัย อินทรัมพรรย์
  5. รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
  6. นางสุนทรี นาคะเสถียร

การประชุม Pre Congress ของ AFES ในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 มีผู้สนใจเข้าประชุมจำนวนมากถึง 360 คน และมีวิทยากรที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ประกอบด้วย Prof.James S.Chrzan (Podiatrist จากสหรัฐอเมริกา) Prof.Martin Silink (Paediatric Endocrinologist จากออสเตรเลีย) นายแพทย์อภิชาติ กงกะนันท์ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน และ รศ.จงจิตร อังคทะวนิช นับเป็นครั้งแรกที่มี Podiatrist จากประเทศสหรัฐอเมริกามาบรรยายในการประชุมระดับ ASEAN จึงเป็นแรงกระตุ้นความสนใจเกี่ยวกับการดูแลเท้า ถึงแม้การประชุมวิชาการจะเป็นการบรรยายภาษาอังกฤษ แต่ผู้เข้าประชุมก็มีความตื่นตัวและได้รับความรู้ในระดับที่น่าพอใจ เป็นการเริ่มต้นความตื่นตัวในการดูแลเท้าของทั้งแถบเอเซียอาคเนย์

history_2

การสร้างกิจกรรมเพื่อรวมสหสาขาวิชาชีพในการดูแลผู้เป็นเบาหวาน

จากความสำเร็จในการจัด Pre Congress และการให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิกชมรมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน คณะกรรมการชมรมฯ จึงได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องในรูปแบบต่างๆเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรสหสาขาวิชาชีพดูแลผู้เป็นเบาหวานร่วมกันเป็นทีม และครบวงจร และเริ่มต้นใส่ใจในการป้องกันก่อนการเกิดโรค กิจกรรมในระยะต้นประกอบด้วย

  1. การออกจดหมายข่าวทุก 3 เดือน ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เป็นการให้ความรู้ที่ทันสมัย และเป็นช่องทางการส่งข่าวคราวกิจกรรมของชมรม ฯ ไปยังสมาชิกและผู้สนใจ โดยระยะแรกใช้ชื่อว่า Diabetes Educator Newsletter เริ่มออกเล่มแรกเดือนมกราคม 2542 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น แสงเทียน ในฉบับที่ 4 และปรับรูปแบบจากขนาด A4 มาเป็นขนาด ½ A4 ในฉบับที่ 18 โดย อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช เป็นบรรณาธิการ ตั้งแต่ฉบับแรก ถึงปัจจุบัน
  2. การจัดทำคู่มือให้ความรู้ของชมรมฯ (ชุด12 เล่ม) ซึ่งมีเนื้อหาเหมาะสำหรับทั้งผู้เป็นเบาหวาน และผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน การจัดทำคู่มือนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากคู่มือของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานแห่งประเทศอังกฤษ
  3. การจัดอบรมซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วยหลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการให้โภชนบำบัด ในผู้ป่วยเบาหวาน หลักสูตรการดูแลสุขภาพเท้า และหลักสูตรเทคนิคการให้คำปรึกษา

การทำงานของชมรม ฯ และกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะกรรมการซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกรรมการ ของชมรมนักกำหนดอาหารด้วย อาทิเช่น ดร.สุนาฎ เตชางาม อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช ดร.ชนิดา ปโชติการ รศ.วลัย อินทรัมพรรย์ เป็นต้น

การจัดการให้บุคลากรได้มีโอกาสสัมผัสนานาชาติ

  1. มีการจัดกิจกรรมปรับความรู้ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานให้มีประสบการณ์ต่างประเทศด้วยการส่งไปรับการอบรมหลักสูตร Lifescan Diabetes Progress ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนสิงหาคมปีพ.ศ. 2545 โดยการสนับสนุนจาก บริษัทจอนห์สัน แอนด์ จอนห์สัน
  2. มีการจัดอบรมหลักสูตรของ ASEAN Diabetes Educator และมีการทำ Workshop ขึ้นที่ในประเทศฟิลิปปินส์ ในวันที่ 26-29 มีนาคม พ.ศ. 2547 โดยได้รับจากการสนับสนุนทุนจากบริษัทจอนห์สัน แอนด์ จอนห์สันhistory_3history_4
  3. มีการก่อตั้งสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานของอาเซียนขึ้นโดยมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์และมี Prof. Augusto D. Litonjua เป็นนายกสมาคม ฯ

การปรับสถานะชมรมขึ้นเป็นสมาคม

หลังจากได้เริ่มมีการทำงานในระดับนานาชาติ คณะกรรมการชมรม ฯ เห็นพ้องต้องกันว่าควรปรับสถานะของชมรม และขึ้นทะเบียนเป็นสมาคม เพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กับนานาชาติ จึงได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นสมาคม ได้เลขใบอนุญาต ต.98/2546 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2546 โดย พญ.อารยา ทองผิว รับตำแหน่งนายกสมาคมคนแรกและนางสุนทรี นาคะเสถียร เป็นเลขาธิการ

ความพยายามในการขยายวงกว้างของผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน

ในสมัยที่ พญ.อารยา ทองผิว เป็นนายกสมาคม ฯ ได้มีการขยายเครือข่ายของผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานออกไป ตามโรงพยาบาลชุมชนของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้เครือข่ายสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล(พรพ.) ซึ่งได้รับเอาการดูแลเบาหวานเป็นเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) ที่สำคัญ

จากการประกวดผลงานและจากการสำรวจกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในสถานพยาบาลต่าง ๆ ทำให้ได้ทราบถึงภูมิปัญญา ของโรงพยาบาลชุมชน ในการที่จะนำความรู้ไปสู่ประชาชนซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่ จะมาดูงานที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์เป็นต้นแบบ แล้วก็แยกย้ายออกไปดัดแปลงกันเองตามความเหมาะสมและทรัพยากรที่มี ดังนั้น เครือข่ายการเรียนรู้จึงเกิดขึ้น เมื่อจัดให้ผู้มีประสบการณ์เหล่านี้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

history_5

Multidisciplinary Health Promotion

ความสนใจในเรื่องการให้ความรู้โรคเบาหวานได้กระจายออกอย่างรวดเร็วในหมู่พยาบาลวิชาชีพและผู้ทำงานด้านสาธารณสุข แต่แพทย์ส่วนใหญ่ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ยังให้ความสนใจน้อยมาก ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ จึงใช้โอกาสที่บริษัทเทอรูโม (ประเทศไทย) จำกัด มาปรึกษาเรื่องการดำเนินกิจกรรม (โดยได้เงินสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น) ให้ทำกิจกรรมอบรมแบบเป็นทีม โดยกำหนดให้ผู้เข้ามารับการอบรมต้องมาเป็นทีม ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และนักกำหนดอาหาร การจัดอบรมหลักสูตร Health Promotion and Diabetes Nutrition Care นี้ เป็นการร่วมกันทำงานระหว่างสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน และสมาคมนักกำหนดอาหาร ได้ทำการอบรมแบบสัญจรไปยังภาคต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี เชียงราย จันทบุรี ขอนแก่น และอุบลราชธานี ทีมแพทย์ในจังหวัดใกล้เคียงจะเข้ามาสมทบด้วย เป็นงานใหญ่อีกโครงการหนึ่งซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างสองสมาคมและหนึ่งบริษัทเอกชน

history_7

พัฒนาการดูแลเท้า (Foot Care)

แต่เดิมนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานส่วนใหญ่ไม่สนใจในการดูแลเท้าของตนเอง อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็มิได้แนะนำ กระทั่งเกิดเป็นแผลลุกลามแล้ว จึงเข้ามาพบแพทย์และกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้เป็นเบาหวานต้องถูกตัดขามากมาย ในประเทศไทยเองไม่เคยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเท้า (Podiatrist) ในขณะที่ศัลยแพทย์และแพทย์ด้านกระดูกก็ไม่สนใจ ในการที่จะรักษาแผลเล็กๆ ที่เท้าเพื่อป้องกันการตัดขา เรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วไปทุกแห่งในเอเชีย เพราะในเอเชียไม่มีประเทศใดที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเท้าอยู่

จากการประชุม Pre Congress ของ AFES ในปี 2542 ซึ่งได้รับเกียรติจาก Prof.James S.Chrzan แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเท้า (Podiatrist) จากเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มาบรรยายให้ความรู้เรื่องการดูแลเท้าในผู้เป็นเบาหวานขึ้นเป็นครั้งแรก และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และมีการจัดตั้งคลินิกเท้าขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ โดยการส่งแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพ ไปดูงานที่เมืองบอสตัน และมีการเชิญนักกายภาพบำบัดซึ่งได้รับการฝึกฝนทางด้านการดูแลเท้าโดยกลุ่มมิชชั่นนารีที่เข้ามาช่วยเหลือ ในโรงพยาบาลโรคเรื้อนที่พระประแดง(ปัจจุบัน คือสถาบันราชประชาสมาสัย) เข้ามาร่วมพัฒนางานในคลินิกเท้า จากประสบการณ์นี้ทำให้สามารถนำไปขยายผลต่อเป็นการฝึกอบรมของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานเรื่องการดูแลสุขภาพเท้าเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ที่โรงแรมสยามซิตี้ และอีกครั้งหนึ่งที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2546

history_7

เรื่องการดูแลเท้าได้รับการขยายการอบรมออกไปอีกเมื่อมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวานได้รับทุนจาก World Diabetes Foundation จัดฝึกอบรมให้ไปอีก 4 รุ่นต้นปี 2551 นี้ และกำลังติดตามผลการอบรมเพื่อให้มีการจัดตั้งคลินิกเท้าขึ้น ตามโรงพยาบาลชุมชนทั่วไปในต่างจังหวัด

เรื่องการดูแลเท้าได้รับการตอบรับอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งนับเป็นผลงานอีกชิ้นหนึ่งของสมาคม ฯ นอกจากเรื่องวิทยากรเบาหวานและนักกำหนดอาหารในการสร้างกำลังคนให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับอนาคตของการป้องกันโรคของประเทศไทย

วัตถุประสงค์

  • เพื่อเป็นแหล่งรวมของนักวิชาการ บุคลากรที่ปฏิบัติงานหรือมีความสนใจเกี่ยวกับการให้ความรู้โรคเบาหวาน
  • เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิดด้านวิชาการ และปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
  • เพื่อกำหนดมาตรฐานการให้ความรู้โรคเบาหวาน
  • เพื่อสร้างสื่อการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานที่ได้มาตรฐาน
  • เพื่อเป็นองค์กรที่สนับสนุนทางวิชาการ ให้มีการศึกษา วิจัย เพื่อให้เกิดความรู้ในการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวาน
  • เพื่อเผยแพร่ สนับสนุนและพัฒนาวิชาการเกี่ยวกับการให้ความรู้โรคเบาหวาน
  • เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร งานวิจัย และการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
  • เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและเผยแพร่วิชาการ ข่าวสาร แก่สมาชิกและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
  • เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างสมาคมกับสถาบันนานาชาติด้านการให้ความรู้โรคเบาหวาน
  • เพื่อเป็นศูนย์ให้การอบรมเกี่ยวกับการให้ความรู้โรคเบาหวานแก่ผู้ให้ความรู้และผู้เป็นโรคเบาหวาน
  • เพื่อเป็นองค์กรให้การรับรองมาตรฐานแก่ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน
  • เพื่อส่งเสริมแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมของผู้เป็นเบาหวาน
  • ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
  • ไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง