เบาหวานชนิดที่ 1 ในผู้ใหญ่ (ตอนที่ 2 “ไม่ค่อยพบหรือไม่ค่อยวินิจฉัย ?”)


กลับมาต่อจากตอนที่แล้วที่ได้แสดงข้อมูลให้เห็นว่าผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ แต่ทำไมในชีวิตจริงเรากลับพบผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ในคลินิกกันไม่มากนัก หรือในบางแห่งไม่พบเลยด้วยซ้ำไป จากการเก็บรวบรวมสถิติข้อมูลโรคเบาหวานของสมาพันธ์เบาหวานโลกเมื่อปี 2011 พบว่าจาก 88 ประเทศที่มีการรวบรวมข้อมูล ประเทศไทยเราพบอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กน้อยมากคือพบเพียงไม่ถึง 1 รายต่อเด็ก 1 แสนคนต่อปี (ตัวเลขจริงคือ 0.3 รายต่อเด็กแสนคนต่อปีหรือพบ 1 รายในเด็กทุกๆ สามแสนกว่ารายต่อปี)

และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นตามภาพจะเห็นได้ว่าไทยมีผู้เป็นโรคนี้น้อยเป็นลำดับที่ 86 จาก 88 ประเทศที่มีการรวบรวมข้อมูลมาเลยทีเดียว

ปัจจุบันมีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายว่าเหตุใดโรคนี้จึงพบได้บ่อยในบางพื้นที่ของโลกและทำไมบางประเทศจึงพบน้อย สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีข้อมูลสถิตินี้ก็พบอุบัติการณ์ของโรคนี้ในเด็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามในชีวิตจริงยังมีผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อีกมากที่เพิ่งเริ่มแสดงอาการของโรคในช่วงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งปัญหาของไทยคือเนื่องจากเราพบโรคนี้น้อยและมักวินิจฉัยในวัยเด็กจึงไม่ค่อยคุ้นเคยกับการฉุกใจว่าในผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ได้เช่นกัน ดังนั้นในชีวิตจริงจะมีผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้หลายรายที่ได้รับการวินิจฉัยไปเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เหตุเพราะเริ่มเป็นตอนผู้ใหญ่จึงไม่ได้รับการส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยแยกโรคชนิดที่ 1 และรวมทั้งการส่งแอนติบอดี้เพื่อวินิจฉัยโรคนี้ยังไม่สามารถทำได้แพร่หลายในทั่วทั้งประเทศด้วย แม้ในต่างประเทศเองก็มีบ่อยครั้งที่เบื้องต้นวินิจฉัยผู้ป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่นานหลายปีกว่าจะมาทราบภายหลังว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ดังนั้นส่งท้ายเรื่องน่ารู้วันนี้จึงทิ้งท้ายไว้ให้ฉุกคิดกันว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในผู้ใหญ่นี้ในประเทศไทย “ไม่ค่อยพบหรือไม่ค่อยวินิจฉัย ?”